Virtual Community

FAQ

1. ผลิตภาพ (Productivity) คืออะไร ?

แนวคิด “ผลิตภาพ” หรือ “Productivity” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2454 โดยเฟรดเดอริก ดับบลิว เทเลอร์ ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจ และพยายามชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มผลิตภาพนั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายเดียวกันและเกิดความร่วมมือร่วมใจในการผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพในองค์กร

Productivity เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธี การทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาแนวทางการทำงานที่มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยการใช้ทรัพยากรรอบ ๆ ตัว อย่างคุ้มค่าและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

แนวคิด Productivity เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ในทุก ๆ ด้าน และเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สามารถปรับใช้ได้โดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่การพัฒนาในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน และสังคม ซึ่งจะ ขยายผลไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ระดับประเทศ อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชน และ ความก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

2. ผลิตภาพวัดได้หรือไม่ อย่างไร ?

ผลิตภาพตามหลักการวิทยาศาสตร์ หมายถึง อัตราส่วนระหว่างมูลค่าผลผลิต (Output) ที่องค์กรสร้างขึ้นต่อมูลค่าของปัจจัยการผลิต (Input) ที่องค์กรใช้ในการสร้างผลผลิตเหล่านั้น

การวัดระดับผลิตภาพเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเพิ่มผลิตภาพ โดยการประเมินจะทำให้ทราบถึงสถานะในปัจจุบันและสามารถกำหนดทิศทางที่ต้องพัฒนาในอนาคตได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการเเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นได้อีกด้วย

3. การวัดผลผลิต (Output) ในเชิงมูลค่าเพิ่ม (Value Added) คืออะไร ?

Value Added คือ มูลค่าที่เกิดจากความสามารถของพนักงานและผู้บริหารทุกคนภายในองค์กรในการผลิตหรือแปรสภาพสิ่งที่ซื้อมาจากภายนอก (เช่น วัตถุดิบ เครื่องมือเครื่องจักร พลังงาน และ ต้นทุนอื่นๆ) ให้เป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคต้องการ โดยมูลค่าเพิ่มที่องค์กรสร้างขึ้นจะถูกจัดสรรออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนแรกจะถูกจัดสรรให้กับพนักงาน (ในรูปค่าจ้าง เงินเดือน เงินโบนัส สวัสดิการต่างๆ) และส่วนที่ 2 จะถูกจัดสรรให้กับส่วนทุน (ในรูปเงินปันผล ดอกเบี้ย เงินบริจาค และภาษี)

4. การวัดผลผลิตในเชิงมูลค่าเพิ่ม (Value Added) คิดอย่างไร ?

การคำนวณมูลค่าเพิ่มมี 2 วิธี ได้แก่ วิธีลบ (Subtraction Method) และวิธีบวก (Addition Method) ซึ่งไม่ว่าจะคำนวณด้วยวิธีใดจะต้องได้ผลลัพธ์ที่เท่ากันเสมอ

5. องค์กรจะเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไร ?

หากองค์กรต้องการเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น ก็สามารถดำเนินการได้ใน 4 แนวทาง นั่นคือ

1) การผลิตสินค้าหรือบริการจำนวนมากขึ้น โดยใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิม
2) การผลิตสินค้าหรือบริการจำนวนเท่าเดิม แต่ใช้ปัจจัยการผลิตที่น้อยลง

3) การผลิตสินค้าหรือบริการจำนวนมากขึ้น โดยปริมาณปัจจัยการผลิตที่ใช้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าปริมาณสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้น

4) การผลิตสินค้าหรือบริการจำนวนน้อยลง โดยปริมาณสินค้าหรือบริการที่น้อยลงมีอัตราที่สูงกว่าการลดลงปริมาณปัจจัยการผลิตที่ใช้

นอกจากการมองในเชิงปริมาณหรือจำนวนแล้ว แนวคิดผลิตภาพยังให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพไปพร้อมๆ กัน โดยสินค้าหรือบริการที่องค์กรสร้างขึ้นต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเท่านั้น หากสินค้าหรือบริการเหล่านั้นไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า แม้จะสามารถผลิตด้วยปัจจัยการผลิตที่ต่ำเพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ ในกรณีนี้จึงถือว่า การผลิตดังกล่าวไม่เป็นการผลิตที่มีผลิตภาพ

6. การนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวก (facilitate) และเกื้อหนุน (enabler) ให้องค์กรสามารถยกระดับผลิตภาพของตนเองได้อย่างก้าวกระโดด แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยทุนที่ผู้ประกอบการเลือกเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเท่านั้น ถ้าผู้ประกอบการขาดความตระหนักและไม่มีความเข้าใจถึงแนวคิดพื้นฐานเรื่องผลิตภาพแล้ว ก็ไม่สามารถเลือกและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินธุรกิจได้

ดังนั้น ผลิตภาพขององค์กรจึงเกิดจากความสามารถตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยี รวมถึงแนวทางหรือวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรมากที่สุด

ตัวอย่างต่อไปนี้ จะช่วยให้เห็นภาพและเข้าใจแนวคิดผลิตภาพมากยิ่งขึ้น